วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทบาทหน้าที่ของครูในการจัดการชั้นเรียน


บทบาทหน้าที่ของครูในการจัดการชั้นเรียน


1. พิจารณาว่าตนเองเข้าใจเด็กดีแล้วหรือยัง  ผู้เรียนจัดอยู่ในกลุ่มวัยใด

2. ครูที่ดีต้องอดทน อดกลั้น บางครั้งพฤติกรรมของผู้เรียนก็ทำให้ครูเหลืออด วาจาที่ค่อนข้างก้าวร้าวเราพบได้จากผู้เรียน แต่บางครั้งก็ต้องอดทนอย่าลืมว่าการที่ครูใช้อารมณ์โต้ตอบผู้เรียนก็เท่ากับเราลดวุฒิภาวะทางอารมณ์ให้เท่ากับเขา หากเราโต้ตอบด้วยความรุนแรงก็ย่อมได้ความรุนแรงกลับมา

3. พัฒนาตนเองให้มีความรอบรู้ทั้งวิชาการ และจิตวิทยาการเรียนการสอน ครู  ควรหมั่นติดตามข่าวสารรอบตัวอยู่เสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โลกปัจจุบันเพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเสริมสร้างบุคลิกภาพของครูให้ผู้เรียนเกิดการยอมรับ  นอกจากนี้ครูยังต้องตามให้ทันวัยรุ่นว่าเขาสนใจอะไรชอบอะไรเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเราก็เป็นครูทันสมัย

4. หาเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆมาใช้ในห้องเรียน  จริงอยู่ที่ว่าการสอนวิชาทฤษฎียังจำเป็นต้องใช้การสอนแบบบรรยายอยู่  แต่การสอนแบบบรรยายก็ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อได้ง่ายดังนั้นครูจึงควรมีเทคนิควิธีอื่นเข้ามาแทรกในการสอน เช่น เมื่อให้เนื้อหาไปประมาณ  20 - 30 นาทีครูควรเปลี่ยนมาใช้การถามตอบเพื่อทบทวนความเข้าใจของผู้เรียน  นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอื่นๆที่ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนอีก  ได้แก่ การนำผู้เรียนออกไปเรียนนอกชั้นเรียน การใช้เกมหรือกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวร่างกาย  ทำบรรยากาศการเรียนให้เป็นเรื่องสนุกแม้เนื้อหาจะเคร่งเครียด

5. ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายบางครั้งภาษาวิชาการก็เป็นเรื่องที่ไกลตัวทำให้ผู้เรียนเข้าใจยากพาลเบื่อไม่สนใจเรียน  การสร้างบรรยากาศการเรียนที่ดีจะต้องเริ่มจากการเตรียมตัวของครู ครูต้องมีการวางแผนการสอน ทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระและหาวิธีการถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาง่ายๆ ประการหนึ่งคือพยายามนำเรื่องที่เป็นสถานการณ์ใกล้ตัว หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้เรียนมาบูรณาการให้เข้ากับเนื้อหาวิชา เช่น ถ้าเรียนเรื่องระบบนิเวศเราก็ให้ผู้เรียนสำรวจระบบที่มีอยู่รอบโรงเรียน ถ้าสอนพุทธศาสนาก็อาจหยิบยกปัญหาของวัยรุ่นมาให้ผู้เรียนวิพากษ์วิจารณ์  แล้วค่อยสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้เขาทีละนิด

6. สร้างแรงจูงใจในการเรียนแก่ผู้เรียน  เช่นการให้คำชม หรือให้คะแนนเสริมเมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์  ขณะเดียวกันก็อาจเสริมแรงในทางลบโดยการกล่าวตักเตือน ตำหนิบ้างเมื่อเขาทำไม่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ลืมว่าการตำหนิต้องทำโดยปราศจากอารมณ์

7. ให้ความยุติธรรมกับผู้เรียนอย่าสนใจเฉพาะคนที่เรียนเก่ง  ครูควรมีความเมตตาที่จะถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ การทำให้ผู้ไม่รู้กลายเป็นผู้รู้นอกจากครูจะได้ความภูมิใจอันประมาณค่าไม่ได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือคำชมและการยอมรับจากเด็ก

8. ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น การวางระเบียบปฏิบัติในการเรียน การกำหนดวิธีการวัดผล สิ่งใดที่เกิดจากการตัดสินใจของเขาเมื่อเกิดกรณีทำผิด หรือได้คะแนนน้อยเด็กจะยอมรับความผิดเพราะกฎเกิดจากการตัดสินใจของตนเอง

9. แต่งตัวให้เหมาะสมกับความเป็นครูถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจมีความสวยงามบ้างแต่อย่าลืมว่าท่านคือครูไม่ใช่ดารา

หลักการจัดชั้นเรียน
         
เนื่องจากชั้นเรียนมีความสำคัญ เปรียบเสมือนบ้านที่สองของนักเรียน นักเรียนจะใช้เวลาอยู่ในชั้นเรียนประมาณวันละ 5-6 ชั่วโมง อิทธิพลของชั้นเรียนจึงมีมากพอที่จะปลูกผังลักษณะของเด็กให้เป็นแบบที่ต้องการได้ เช่น ให้เป็นตัวของตัวเอง ให้สามารถทำงานเป็นหมู่คณะได้ดี ให้ชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอ

ให้มีความรับผิดชอบ ให้รู้จักคิดวิเคราะห์   ดังนั้นเพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะนิสัยดังประสงค์ และมีความรู้สึกอบอุ่นสบายใจในการอยู่ในชั้นเรียนครูจึงควรคำนึงถึงหลักการจัดชั้นเรียน ดังต่อไปนี้
          1.
การจัดชั้นเรียนควรให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม ชั้นเรียนควรเป็นห้องใหญ่หรือกว้างเพื่อสะดวกในการโยกย้ายโต๊ะเก้าอี้ จัดเป็นรูปต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน ถ้าเป็นห้องเล็ก หลาย ห้องติดกัน ควรทำฝาเลื่อน เพื่อเหมาะแก่การทำให้ห้องกว้างขึ้น
          2.
ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างเสริมความรู้ทุกด้าน โดยจัดอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมหรือหนังสืออ่านประกอบที่หน้าสนใจไว้ตามมุมห้อง เพื่อนักเรียนจะได้ค้นคว้าทำกิจกรรมควรติดอุปกรณ์รูปภาพและผลงานไว้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
          3.
ควรจัดชั้นเรียนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ซึ่งมีอิทธิผลต่อความเป็นอยู่และการเรียนของนักเรียนเป็นอันมาก ครูมีส่วนช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีได้ เช่น ให้นักเรียนจัดหรือติดอุปกรณ์ให้มีสีสวยงาม จัดกระถางต้นไม้ประดับชั้นเรียน จัดที่ว่างของชั้นเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรม คอยให้คำแนะนำในการอ่านหนังสือ ค้นคว้าแก้ปัญหา และครูควรสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ไม่ให้เครียด เป็นกันเองกับนักเรียน ให้นักเรียนรู้สึกมีความปลอดภัย สะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน
          4.
ควรจัดชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีงาม ชั้นเรียนจะน่าอยู่ก็ตรงที่นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด ตั้งแต่พื้นชั้นเรียน โต๊ะม้านั่ง ขอบประตูหน้าต่าง ขอบกระดานชอล์ก แปลงลบกระดาน ฝาผนังเพดาน ซอกมุมของห้อง ถังขยะต้องล้างทุกวัน เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น และบริเวณที่ตั้งถังขยะจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นแหล่งบ่อเกิดเชื้อโรค 
          5.
ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ ทุกอย่างจัดให้เป็นระเบียบทั่งอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ เช่นการจัดโต๊ะ ชั้นวางของและหนังสือ แม้แต่การใช้สิ่งของก็ให้นักเรียนได้รู้จักหยิบใช้ เก็บในที่เดิม จะให้

นักเรียนเคยชินกับความเป็นระเบียบ
          6.
ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตย โดยครูอาจจัดดังนี้
             6.1
จัดให้นักเรียนเข้ากลุ่มทำงาน โดยให้มีการหมุนเวียนกลุ่มกันไป เพื่อให้ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น
             6.2
จัดที่นั่งของนักเรียนให้สลับที่กันเสมอ เพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิที่จะนั่งในจุดต่างๆ ของห้องเรียน
             6.3
จัดโอกาสให้นักเรียนได้หมุนเวียนกันเป็นผู้นำกลุ่ม เพื่อฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
          7.
ควรจัดชั้นเรียนให้เอื้อต่อหลักสูตร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปัจจุบันเน้นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และให้ใช้กระบวนการสอนต่างๆ ดังนั้นครูจึงควรจัดสภาพห้องให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เช่น การจัดที่นั่งในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นรูปตัวยู ตัวที หรือครึ่งวงกลม หรือจัดเป็นแถวตอนลึกให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนและการจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาให้ผู้เรียนรู้สึกกล้าถามกล้าตอบ กล้าแสดงความคิดเห็น เกิดความใคร่รู้ ใคร่เรียน ซึ่งจะเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาตน พัฒนาอาชีพ พัฒนาสังคม และเป็นคนเก่ง ดี มีความสุขได้ในที่สุด
         
จากที่กล่าวมาทั่งหมด สรุปได้ว่า หลักการจัดชั้นเรียน คือ การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ และการจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และเพื่อการพัฒนาผู้เรียนทั่งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป

เทคนิคการปกครองชั้นเรียนของครู                                                                                                             
         
เทคนิคหรือวิธีการที่ครูใช้ปกครองชั้นเรียนมีส่วนส่งเสริมในการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา กล่าวคือ ถ้าครูปกครองชั้นเรียนด้วยความยุติธรรม ยึดหลักประชาธิปไตย ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับ ยินดีปฏิบัติ นักเรียนก็จะอยู่ในห้องเรียนอย่างมีความสุข เกิดความรู้สึกอบอุ่นพอใจและสบายใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าครูโลเล ไม่ยุติธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง ปกครองชั้นเรียนแบบเผด็จการ นักเรียนจะเกิดความรู้สึกไม่ศรัทธาครู ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบกฎเกณฑ์ ส่งผลให้นักเรียนไม่สนใจเรียน ไม่อยากมาโรงเรียนในที่สุด ดังนั้นเทคนิควิธีการปกครองชั้นเรียนของครูจึงมีความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาด้วย
         
ในการปกครองชั้นเรียน ครูควรยึดหลักต่อไปนี้
          1.   
หลักประชาธิปไตย ครูควรให้ความสำคัญต่อนักเรียนเท่าเทียมกัน ให้ความเสมอภาค ให้อิสระ ให้โอกาสแก่ทุกคนในการแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันครูต้องใจกว้าง ยินดีรับฟังความเห็นของทุกคน

และควรฝึกให้นักเรียนปฏิบัติตนตามสิทธิหน้าที่ รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ให้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตย
          2.   
หลักความยุติธรรม  ครูควรปกครองโดยใช้หลักความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคนโดยทั่วถึง นักเรียนจะเคารพศรัทธาครู และยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบของครู ยินดีปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของครู ตลอดจนไม่สร้างปัญหาในชั้นเรียน
          3.   
หลักพรหมวิหาร 4   อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 
                 
เมตตา หมายถึง ความรักและเอ็นดุ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข
                 
กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
                 
มุทิตา หมายถึง ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ลาภยศ สุข สรรเสริญ 
                 
อุเบกขา หมายถึง ความเที่ยงธรรม การวางตัวเป็นกลาง การวางใจเฉย
         
ถ้าครูทุกคนยึดหลักพรหมวิหาร 4 ในการปกครองชั้นเรียน นอกจากจะทำให้นักเรียนมีความเคารพรักศรัทธาครู และมีความสุขในการเรียนแล้วยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่นักเรียนด้วย
          4.   
หลักความใกล้ชิด การที่ครูแสดงความเอาใจใส่ ความสนใจ ให้ความใกล้ชิดกับนักเรียน เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา วิธีการแสดงความสนใจนักเรียนทำได้หลายวิธี จิตรา วสุวานิช (2531 : 135) ได้เสนอแนะไว้ดังนี้
                 1. 
ครูจะต้องรู้จักนักเรียนในชั้นทุกคน รู้จักชื่อจริง ชื่อเล่น ความสนใจของเด็กแต่ละคน เป็นต้นว่า งานอดิเรก มีพี่น้องกี่คน จุดเด่น จุดด้อย ของนักเรียนแต่ละคน
                 2. 
ครูจะต้องแสดงความสนใจในสารทุกข์สุขดิบของเด็กแต่ละคน เช่น หมั่นถามความเป็นไปของพี่น้อง ความคืบหน้าของการสะสมแสตมป์ คือ ไม่เพียงรู้แต่ว่าเด็กเป็นอะไรในข้อ 1 แต่รู้ข่าวคราวเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้นด้วย
                 3. 
ครูจะมอบเวลาของตนเพื่อเด็ก เวลาที่นอกเหนือจากงานสอน ได้แก่ เวลาเย็นหลังเลิกเรียน ช่วงพักระหว่างการเรียน เพื่อช่วยเด็กที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ว่าต้องการขอคำปรึกษา ต้องการขอคำแนะนำในการหารายได้พิเศษ ครูจะต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กได้ตลอดเวลา
                 4. 
ครูจะต้องใกล้ชิด สัมผัสทั้งร่างกายและจิตใจ คำสั่งสอนและการกระทำของครูจะต้องสอดคล้องกัน เป็นต้นว่า ถ้าครูจะอบรมสั่งสอนเด็กเรื่องความซื่อสัตย์ ครูจะต้องปฏิบัติตนเป็นคนซื่อสัตย์ด้วยเช่นกัน กายสัมผัสก็เป็นสิ่งจำเป็น การจับต้องตัวบ้าง จะเป็นสื่อนำให้เด็กรู้สึกถึงความใกล้ชิดสนิทสนม



เทคนิคและทักษะการสอนของครู

                 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  เทคนิคและทักษะการสอนของครูล้วนมีอิทธิพลต่อบรรยากาศในชั้นเรียนได้ทั้งสิ้น  การสร้างแรงจูงใจ  การแปรเปลี่ยนความสนใจ  การเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายจะทำให้เด็กไม่เบื่อเมื่อเทียบกับการที่ครูใช้วิธีสอนแบบเดียวเป็นระยะเวลายาวนานจนเกินไป  เช่นการใช้วิธีสอนแบบบรรยาย  ทำให้เด็กอาจเรียนรู้ได้ไม่เท่ากับที่ครูตั้งใจจะสอนเพราะเด็กเกิดความเบื่อหน่าย  ไม่สนใจเรียน  อาจชวนเพื่อนคุยหรือแกล้งเพื่อนกลายเป็นปัญหาในชั้นเรียนที่ครูจะต้องจัดการซึ่งแท้ที่จริงแล้วสาเหตุสำคัญอาจอยู่ที่ตัวครูเองก็เป็นได้  ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่ครูควรจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการชั้นเรียนคือ  การที่ครูจะต้องเตรียมการสอนโดยยึดหลักที่สำคัญในการพิจารณาเลือกใช้วิธีสอนที่หลากหลาย  มีความเหมาะสมกับเนื้อหาวิชาและสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน  นอกจากนี้ควรเลือกใช้ทักษะและเทคนิคการสอนที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจในบทเรียนมากขึ้นดังนี้

                1.  การสร้างแรงจูงใจในบทเรียน  ความสนใจหรือความต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องใดๆ  สำหรับนักเรียนอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหรือเพียงบางครั้ง  บางเรื่องหรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย  แตกต่างกันไปตามลักษณะวัย  และความสามารถของเด็กแต่ละคน  ครูจึงควรสร้างแรงจูงใจให้แก่เด็กอย่างต่อเนื่อง  บทบาทของครูในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนเช่น  การเลือกกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมจะสามารถขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนทั้งยังเป็นการส่งเสริมชั้นเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้อีกด้วย

                2.  จัดการเรียนรู้ที่มีรูปแบบการสอนที่หลากหลายและใช้เทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้  การมีส่วนร่วมของนักเรียนในการวางแผนหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนใช้ทักษะทางสังคมเช่น  นักเรียนใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมมือ  เป็นต้น

                3.  การแปรเปลี่ยนวิธีสอนให้หลากหลาย  เช่นการเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้  การเปลี่ยนบทบาทของผู้เรียนหรือการใช้แหล่งหรือสื่อการเรียนรู้หลายประเภท

                4.  การกำหนดงานให้นักเรียน  ปฏิบัติระหว่างเรียนที่สอดคล้องกับบทเรียนและตรงตามความสนใจของนักเรียนและเนื้อหาวิชาที่เรียน


http://www.learners.in.th/blogs/posts/149865     


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น